แผลร้อนใน (แผลในปาก)

แผลร้อนในน่ากลัวแค่ไหน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ให้ข้อมูลว่า
แผลร้อนใน (Aphthous) คือ แผลเปื่อยซึ่งเกิดขึ้นกับเยื่อเมือกบุช่องปาก สามารถเกิดได้กับเนื้อเยื่อทุกบริเวณในช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม เหงือก ด้านข้างของลิ้น และมักเกิดพร้อมกันหลายแผลหรือหลายตำแหน่ง
แผลร้อนในอาจมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หรือใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นแผลเปื่อยสีขาว เทา หรือเหลือง รอบแผลมีลักษณะบวม แดง และจะมีอาการเจ็บมากขึ้นจนส่งผลต่อการกินอาหาร
แม้ แผลร้อนใน จะเป็น ๆ หาย ๆ สามารถเกิดซ้ำได้ทุกเดือนหรือปีละ 3 – 4 ครั้ง แต่ไม่อันตรายถึงขั้นเป็นโรคติดต่อหรือลุกลามเป็นโรคมะเร็ง
ยืนยันอีกเสียงโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า โรคมะเร็งช่องปากจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เคี้ยวหมาก โดยแผลในปากที่ต้องสงสัยคือแผลเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อนูนผิวขรุขระ มีรอยขาวหรือรอยแดง พบบริเวณลิ้น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก และเพดานปาก
หากใครเข้าข่ายเสี่ยง และพบว่าแผลในปากอาจไม่ใช่เพียงแผลร้อนในธรรมดา ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
9 ปัจจัยเสี่ยงแผลร้อนในไม่หายสักที
หนังสือ โรคของช่องปากและฟัน สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบหลายปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาส เกิดแผลร้อนใน ดังนี้
- ขาดวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก สังกะสีและกรดโฟลิก
- เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดวิตามินและเกลือแร่
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และความเครียด
- นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นแผลร้อนใน
- กัดริมฝีปากหรือลิ้นของตนเองขณะเคี้ยวอาหาร
- แพ้สารบางชนิดในยาสีฟันหรือมีแผลจากการแปรงฟัน
- กระพุ้งแก้ม ลิ้น เสียดสีกับเหล็กดัดฟันหรือฟันปลอมบ่อยครั้ง
แผลร้อนในแบบซับซ้อนอาจเป็นผลมาจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเอดส์ โรคเบเซ็ต โรคเซลิแอก โรคโครห์น และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะทําการตรวจร่างกาย และอาจให้ตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะขาดสารอาหาร หรือปัญหาทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลร้อนใน
การรักษาแผลร้อนใน
แม้ว่าอาการเจ็บปวดจากแผลร้อนในมักดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน และแผลสามารถหายได้เอง ภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่ได้รับรักษาใด ๆ ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
- ยาชาเฉพาะที่ เช่น Benzocaine ชนิดที่ใช้ภายในปาก
- น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอเฮกซิดีน (chlorhexidine) เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)
สําหรับแผลในปากที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีไซคลีน (doxycycline) โดยหากแผลในปากนั้นรุนแรงมากและรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่หาย แพทย์ทำการจี้แผลด้วยไฟฟ้าเพื่อบรรเทาอาการปวดและทำให้แผลหายเร็วขึ้น
การป้องกันไม่ให้เกิดแผลร้อนใน
การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลในปาก
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
- ทำความสะอาดปากโดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เผ็ด หรือมีรสเปรี้ยวจัดเกินไป
- จัดการกับความเครียด